Thursday, May 22, 2008

เรียนรู้อินเดีย

มีคนไทยหลายคนที่คิดเรื่องอินเดียอยู่ไม่กี่เรื่อง เชื่ออยู่ไม่กี่อย่าง และมองแค่สิ่งที่เห็น แต่ไม่คิดถึงสิ่งที่เป็น อ่านบทควาบทนี้แล้วเห็นด้วยเลยขออนุญาติเผยแพร่เท่าที่ทำได้ ไม่ได้ต้องการเนื้อหา แต่พออ่านแล้วได้คิด เรามีนิทานเรื่องคนหาปลาอยากมีปลากินนาน ๆ ต้องทำอย่างไร คำตอบคือต้องคิดเป็นก่อน และทำได้ตามมาเน้อ

เป็นบทความที่น่าอ่านเป็นอย่างยิ่ง จาก เรียนรู้อินเดียในศิลปวัฒนธรรม โสภนา ศรีจำปา19/1/2551 สัญจร /
เรื่อง เรียนรู้อินเดีย ศรัทธา–ศิลปะ–วิศวกรรม
ประสบการณ์การเรียนรู้ในอินเดียของดิฉัน ด้านหนึ่งทำให้เห็นวัฒนธรรมการกินอาหารของชาวเมืองเชนใน หรือในรัฐทมิฬนาดูแล้ว เรื่องนับถือศาสนาเป็นอีกมุมหนึ่งที่ชาวอินเดียมีความผูกพันอยู่กับร่างกาย
ท่านสังเกตไหมว่าหน้าผากของชาวอินเดีย โดยเฉพะผู้ชายจำนวนไม่น้อยจะมีขีดสีขาว 3 เส้นพาดขวางเต็มหน้าผาก มีจุดแต้มสีเหลืองอยู่ตรงกลางบ้าง บางคนก็ขีดสั้นๆ สีขาว บางคนมีขีดสีแดงเส้นเดียวขีดยาวสัก 1 นิ้วครึ่งบางๆ จากระหว่างคิ้วขึ้นไป ส่วนผู้หญิงก็มีจุดแดงกลมแต้มที่หน้าผาก เขาทำเป็นเรื่องปกติ
ทุกเช้าชาวอินเดียตื่นนอนแต่เช้าเพื่อเตรียมอาหาร และบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือพร้อมถวายอาหาร ดัง นั้นเมื่อบูชาแล้วเขาจะแต้มเถ้าหอม หรือผงหอมที่หน้าผาก เสร็จแล้วเตรียมตัวไปทำงาน ไม่เพียงเท่านั้นหากท่านได้เข้าไปกราบไหว้ในวัดแขก จะเห็นบรรยากาศของความศรัทธาของศาสนิกฮินดูไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน
ในขณะที่โบราณสถานของอินเดียมีมากมายที่อลังการ สวยงามเกินความสามารถของมนุษย์ยุคปัจจุ บันที่จะสร้างสรรค์ให้เท่าเทียมได้ซึ่งเกิดจาก “ศรัทธา” ของศาสนิกอย่างแท้จริง แม้จนทุกวันนี้เราก็ยังสัมผัสได้ในความศรัทธาของศาสนาอื่นๆ และพิธีกรรมต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในอินเดีย
ที่รัฐทมิฬนาดู มีผู้ชายจำนวนมากนุ่งโสร่งทั้งยาวและสั้น ลักษณะพับปลายล่างทบครึ่งมาสอดไว้ที่เอว คล้ายนุ่งกระโปรงสั้น เขานุ่งออกไปนอกบ้านเป็นเรื่องธรรมดา การไม่ใส่รองเท้าก็เป็นเรื่องธรรมดาของเขา ศาสนิกชาวฮินดูถอดรองเท้าเข้าวัดและเดินเท้าเปล่ากันไกลๆ เป็นเรื่องปกติแม้พื้นจะร้อนมากก็ตาม
คนอินเดียมีกุศโลบายที่อยู่กลมกลืนกับธรรมชาติอย่างมีศิลปะ หากท่านผ่านหน้าบ้านของชาวฮินดูที่เชนไน ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวหรืออพาร์ตเมนท์ท่านจะเห็นลวดลายศิลปะสีขาวๆ ตกแต่งไว้หน้าประตูบ้าน ทั้งยังเปลี่ยนลวดลายได้ทุกวัน ศิลปะนี้เรียกว่าโกลัม (Kolam) อันกรรมวิธีเดิมทำจากข้าวสารบดเป็นผง แล้วนำมาโรยเป็นลวดลายสวยงามแทนที่จะโยนๆ โปรยๆ ให้สัตว์กินไปตามธรรมชาติ
ที่เมืองเชนไนนั้นสองข้างทางนอกเมืองเป็นทุ่งโล่งๆ คล้ายบ้านเรา ซึ่งเพื่อนบอกว่าที่ดินนอกเมืองเริ่มแพง เพราะนักธุรกิจซื้อไว้ทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตามรายทางมีปรากฏให้เห็นอยู่ประปรายบ้างแล้ว
นอกจากนี้สิ่งที่เห็นว่ามีมากตามเส้นทาง คือมหาวิทยาลัยเอกชน ทางด้านวิศวกรรมและการแพทย์หลายแห่งเป็นอาคารใหม่กว้างใหญ่และสวยงาม เพื่อนบอกว่าเป็นของนักการเมือง เพราะเป็นสาขาที่เป็นที่นิยม มีคนเรียนมาก คนที่มีฐานะดีก็สามารถเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนได้ ค่าเรียนแพงจึงสามารถจ้างอาจารย์ดีๆ มาสอนได้ แสดงให้เห็นว่ารัฐเตรียมความพร้อม เตรียมคนเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม
ถนนหนทางออกไปนอกเมืองรถเยอะมาก การขับรถในอินเดียหาระเบียบได้ยากทั้งในและนอกเมือง คนอินเดียเองก็บ่นกันเอง คนอินเดียที่เคยมาเมืองไทยก็ชมว่าการจราจรไทยเป็นระเบียบกว่ามาก เพราะของเขาขับอย่างไม่มีกฎเกณฑ์ ปาดไปปาดมา รถบรรทุกหนักๆ วิ่งทางขวาบังรถเล็กที่วิ่งเร็วกว่าอย่างน่าโมโหทีเดียว เราจึงได้ยินเสียงแตรรถดังสนั่นตลอดทาง เราต้องทำใจ อย่าไปหงุดหงิดอารมณ์เสียตาม
ชาวเชนไนใช้รถยนต์คันเล็กๆ ที่ผลิตในประเทศ เพื่อประหยัดน้ำมัน มีสามล้อเครื่องสีเหลือง มีแท็กซี่ที่โทรนัดหมายให้มารับ รถเมล์ในเมืองหน้าตาเก่าๆ ไปคราวนี้ไม่มีโอกาสได้ลองขึ้นรถเมล์เพราะเพื่อนๆ ชาวเชนไนบริการรับส่งตลอด แต่มีโอกาสได้ลองนั่งรถไฟชานเมือง เพราะไปเยี่ยมที่ทำงานเพื่อนท่านผู้ว่าการรถไฟเชนไน
สถานีรถไฟเก่าแก่มาก อาคารที่ทำการเป็นตึกสร้างสมัยอังกฤษซึ่งเป็น landmark ของเมืองทาสีแดงสวยงาม เมื่อเข้าไปสำรวจแต่ละห้องจะเต็มไปด้วยโต๊ะทำงาน และกองเอกสารเต็มไปหมด ความสะอาดนั้นดูจะไม่ได้ใส่ใจกันมากนัก
ใครที่เคยไปเมืองเชนไน นั่งรถไฟสายชานเมืองจะรู้ดีว่าเป็นรถไฟฟ้า มีที่นั่งกว้างประมาณเกือบสองเมตร แล้วก็คิดว่าเมืองไหนๆ ก็คงเหมือนกันหมดที่นั่งกว้างกว่ารถไฟไทยมาก เราผ่านสถานีรถไฟที่กำลังปรับปรุงหลายแห่งใหญ่ๆ และเมืองเชนไนกำลังพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมไอที นั่งรถชมวิวสวยงามและอากาศดี
เมืองเชนไนนั้นนับเป็นเมืองที่ร่ำรวยทางวัฒนธรรมมาก ทำให้เรื่องอื่นๆ ของเมืองเป็นเรื่องเล็กมาก และทว่าไปคนอินเดียก็เหมือนคนชาติอื่นๆ มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน ขึ้นอยู่กับบุญกรรมของแต่ละคนว่าจะพบคนดีมากกว่าหรือคนไม่ดีมากกว่ากัน แต่ต้องไม่เหมารวมว่าคนชาตินั้นชาตินี้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้
หากเราเป็นผู้ให้ก่อน เราจะได้ใจคนเสมอ คนอินเดียเช่นกันจำนวนไม่น้อยที่มีความกตัญญูรู้คุณ มีจิตใจเอื้ออาทร ใจบุญ ตอบแทนคุณ ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งทำให้สังคมอินเดียยังอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขในท่ามกลางความหลากหลาย ในขณะเดียวกันอินเดียก็พัฒนาความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ไอที วิศวกรรมอวกาศจนติดอันดับโลกไปแล้ว
ความเป็นอินเดียมีทั้งวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมที่ยังคงอยู่และเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคโนโลยีให้เจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน แบบไม่เสียสมดุลย์ เราจะหาประเทศที่มีสองลักษณะที่กลมกลืนกันอย่างอินเดียได้ยากแล้วในโลกยุคโลกาภิวัตน์นี้ นี่เป็นเสน่ห์ของอินเดียอย่างแท้จริง
ประเทศไทยเราเหลือวัฒนธรรมที่ดีงามอยู่ไม่มากแล้ว มีแต่ความเปราะบาง ฉาบฉวยในความเป็นคนไทยยุคใหม่รับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างไม่มีข้อจำกัดและไม่รู้จักเลือกรับ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ก็รู้สึกว่าน่าเป็นห่วงจริงๆ
ในทัศนะของนักธุรกิจชาวอินเดียด้านไอทีมองเมืองไทย มิได้เป็นคู่ค้า แต่เป็นพียงแค่คนผ่านทางมาเพื่อต่อเครื่องบินไปจับมือกับนักธุรกิจชาวจีน เพราะชาวจีนเปิดตัวเอง กระตือรือร้น หนักเอาเบาสู้ ตลาดก็ใหญ่กว่า ซึ่งเมื่อไหร่คนจีนพัฒนาภาษาอังกฤษได้มากขึ้น โลกทั้งใบจะอยู่ในมือของสองชาติมหาอำนาจนี้ในยุคต่อไป
หากเราไม่ปรับเปลี่ยนทัศนะการค้าขาย การติดต่อกับต่างประเทศแบบเชิงรุกแล้ว เราก็คงอยู่แบบทรงๆ ไปอย่างนี้ อย่าไปหวังเลยว่าเราจะไปแข่งขันอะไรกับใครในโลกใบนี้ เพื่อให้เป็นที่รู้จักหรือยอมรับของต่างชาติได้
ครั้งหนึ่ง ดร. กฤษณพงศ์ กิรติกร อดีตเลขาธิการคณะกรรกมการอุดมศึกษา เคยแสดงทัศนะไว้ว่า ยุคต่อไปจะเป็นยุคที่เรียกว่า CHINDIA (China และ India) ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ หากเราไม่เตรียม พร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อให้รู้จักและเข้าใจประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดียที่มีความซับซ้อนทั้งด้านประวัติศาสตร์ สังคม และความรุ่มรวยทางด้านศาสนา ปรัชญาและวัฒนธรรมแล้วเราจะไม่เข้าใจ
ไม่คิดจะเข้าถึง ปิดประตูเพราะมีความฝังใจที่ผิดๆ ไว้ในสมองแล้ว สุดท้ายประเทศชาติจะเสียประ โยชน์ เพราะถึงแม้ปัจเจกจะปฏิเสธที่จะไม่อยากทำความรู้จัก แต่โลกไร้พรมแดนไม่อาจทำให้ประเทศใดอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป
ทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านคงจะพิจารณาตัดสินใจได้ว่าควรจะเตรียมตัวเองแบบไหน เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณค่าและช่วยประเทศชาติได้เมื่อยามที่ชาติต้อง การ มิฉะนั้นแล้วเราจะขาดแคลนคนที่รู้จักเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในภูมิภาคยามที่ชาติต้องการเหมือนในอดีตที่ผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่เคยเตรียมการให้ทันกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกเลย

1 comment:

Anonymous said...

ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ